ข้อมูลหมู่บ้าน


              
                ในอดีต บ้านโค้งตาบางมีป่าไม้ที่อุดมสมบูรณ์ ต้นไม้ส่วนใหญ่จะเป็นไม้ขนาดใหญ่ ๔-๖ คนโอบ ในพื้นที่ป่ามีความร่มรื่น มีพันธุ์ไม้ที่สำคัญหลากหลายชนิด มีสัตว์ป่านานาชนิด และมีน้ำไหลในลำห้วยตลอดปี ต่อมาราษฏรเข้ามาตัดไม้เพื่อเผาถ่าน ส่งผลให้ป่าไม้บริเวณบ้านโค้งตาบางถูกตัดเพื่อนำไปใช้ประโยชน์ ด้านอื่นๆ ตามมา โดยราษฏรในพื้นที่และต่างพื้นที่ได้ตัดไม้ไปทำบ้านเรือนที่อยู่อาศัย และตัดไม้เพื่อนำไปเผาถ่าน เพื่อใช้สอยและเพื่อการค้าขาย ล่าสัตว์ป่า และต่อมามีการลักลอบระเบิดย่อยหินบริเวณเขานางด่างและได้มีการข้อใช้พื้นที่ป่าอุดมสมบูรณ์เพื่อการสัมปทานระเบิดย่อยหิน เมื่อชาวบ้านทราบข่าวการติดประกาศของกลุ่มนายทุนว่าจะขออนุญาตระเบิดย่อยหินบริเวณเขานางด่าง จึงรวมตัวกันคัดค้าน ณ ที่ว่าการอำเภอท่ายาง และได้ทำหนังสือถึงอุตสาหกรรม จังหวัดเพชรบุรีให้ยุติเรื่องขออนุญาตสัมปทานระเบิดย่อยหิน ผลปรากฏว่า ทางกลุ่มนายทุนและผู้บุกรุกไม่ยินยอม จึงเกิดเหตุการณ์ต่อต้านเรื่อยมาจากชาวบ้านโค้งตาบางจนถึงขึ้นเกิดลอบทำร้ายกัน โดยการใช้กำลังและอาวุธ จนในที่สุดกลุ่มนายทุนจึงยอมถอย ไม่เข้าไปดำเนินการระเบิดย่อยหินอีกต่อไป หลังจากนั้นเจ้าหน้าที่กรมป่าไม้ได้เข้าไปส่งเสริมจัดตั้งเป็นป่าชุมชน เมื่อปี พ.. ๒๕๕๒ คณะกรรมการป่าชุมชนและชาวบ้านจึงช่วยกันทำแนวเขต  เพื่อป้องกันมิให้ผู้ใดบุกรุก และได้ร่วมกันปลูกต้นไม้ในบริเวณที่ว่าง ในวันสำคัญต่างๆ เป็นประจำทุกปี ช่วยกันดูแลรักษาป่า และมีการใช้ประโยชน์ผลผลิตจากป่าตามกฏระเบียบที่ชาวบ้านโค้งตาบางทำประชาคมกันไว้
          บ้านโค้งตาบาง หมู่ ๑๐ ตำบลท่าไม้รวก อยู่ในเขตการปกครองขององค์การบริหารส่วนตำบลท่าไม้รวก อ.ท่ายาง จ.เพชรบุรี  มีจำนวนครัวเรือนทั้งหมด ๒๕๘ ครัวเรือน มีประชากรทั้งสิ้น ๙๔๓ คน เป็นชาย ๔๘๑ คน หญิง ๔๖๒ คน บ้านโค้งตาบาง เป็นหมู่บ้านที่จัดตั้งขึ้นใหม่ เมื่อปี พ..๒๕๔๒ โดยแยกตัวจาก บ้านไร่หลวง หมู่ ๗ ตำบลท่าไม้รวก มี นายฉันท์  อัครสกุลภิญโญ เป็นผู้ใหญ่บ้านคนแรกจนถึงปัจจุบัน เดิมทีราษฎรที่ชื่อ นายบาง และครอบครัว ตั้งถิ่นฐานบ้านเรือนตรงบริเวณทางโค้ง ถนนสายเขื่อนเพชร – เขาลูกช้าง ซึ่งเป็นถนนสายหลักของหมู่บ้าน จนชาวบ้านเรียกบริเวณนี้ว่า “โค้งตาบาง” และให้เรียกชื่อหมู่บ้านว่า “หมู่บ้านโค้งตาบาง” จนถึงปัจจุบันนี้

สภาพทั่วไปของหมู่บ้าน
          มีพื้นที่เป็นที่ราบลุ่ม ติดกับแม่น้ำเพชรบุรี ประมาณ ๕,๐๐๐ ไร่ เป็นพื้นที่ป่าสงวนแห่งชาติ มีโครงการพระราชดำริปลูกป่า ประมาณ ๔,๐๐๐ไร่ ที่อยู่อาศัย ๒๐๐ ไร่ พื้นที่การเกษตร ๖๐๐ ไร่ ป่าชุมชน ๕๔ ไร่ ปลูกป่าทดแทน ๑๕๐ไร่ มีดินที่อุดมสมบูรณ์ ปลูกพืชได้เกือบทุกชนิด ประชาชนส่วนใหญ่ประกอบอาชีพทำไร่  พืชที่ปลูกส่วนใหญ่คือ มะนาว ชมพู่ กล้วยชนิดต่าง ๆ เช่น กล้วยน้ำว้า กล้วยหอม กล้วยไข่ และพืชผัก ผลไม้อื่น ๆ และประกอบอาชีพรับจ้าง ทำการเกษตร รวมถึงหาของป่าขาย เช่น ผักหวาน เห็ดโคน และปลาตามแห่งน้ำตามธรรมชาติ

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น